Credit : ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน
บางตอนจาก “นิราสนครวัด”
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์เป็นร้อยแก้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗
.
…….ละคอนหลวงกรุงกัมพูชานี้ ทราบเรื่องตำนานว่าแรกมีขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระหริรักษ์ (นักองด้วง) ได้ครูไทยมาจากเจ้าพระยาบดินทรเดชาสิงห์เสนี หัดเล่นแต่ครั้งรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร แต่เล่นเปนอย่างละคอนเจ้าต่างกรม ต่อมาถึงสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ (นักองค์ราชาวดี) จึงเล่นเอาอย่างละคอนหลวงครั้งรัชกาลที่ ๔ เมื่อสมเด็จพระนโรดมครองกรุงกัมพูชาอยู่นั้น พยายามหาครูละคอนมาจากกรุงเทพฯ ได้ใครออกมาก็ยกย่องชุบเลี้ยง ได้ละคอนวังหน้าตัวดีของเจ้าคุณจอมมารดาเอมบ้าง ละคอนพระองค์เจ้าดวงประภาบ้าง ละคอนพระองค์เจ้าสิงหนาทบ้าง และละคอนโรงอื่นๆ มาเปนครูอีกหลายคน ละคอนหลวงครั้งสมเด็จพระนโรดมเล่นแต่ภาษาไทยอย่างเดียว มาถึงครั้งสมเด็จพระศรีสวัสดิ์(นักองสีสุวัตถิ์)ก็โปรดเล่นละคอน ได้ละคอนของสมเด็จพระนโรดมประสมโรงเล่นต่อมาบ้าง หัดขึ้นใหม่บ้าง แต่เล่นทั้งภาษาไทยและภาษาเขมร ได้เคยให้ไปเล่นที่เมืองฝรั่งเศสถึง ๒ ครั้ง โดยปรกติเล่นแต่ข้างในพระราชวัง ทอดพระเนตรเองเดือนละครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง ออกมาเล่นข้างหน้าให้ชาวต่างประเทศดูแต่งารปีใหม่ หรือเวลามีแขกเมืองบันดาศักดิสูงมาจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้แม้ฝรั่งที่อยู่ในเมืองเขมรจึงมิใคร่จะได้ดู ตัวละคอนที่มาเล่นวันนี้ ตัวสำคัญมาเล่นจริงดังเล่าลือ คนเปนตัวพระสมุทชื่อนักมารศรีมณีวงศ ว่าเปนพระญาติและเปนคนโปรด ตัวนางบุษมาลีชื่อนักเมียงมะปรางหวาน เปนคนโปรดอิกคนหนึ่ง ตัวยักษ์รณจักรนั้นชื่อมิต เปนละคอนแต่ครั้งสมเด็จพระนโรดม เดี๋ยวนี้ว่าเปนตัวครูสำคัญคนหนึ่ง ได้เปนศิษย์ของสัมฤทธิ์ละคอนพระองค์เจ้าสิงหนาท ละคอนตัวโปรดสองคนนั้นแต่งเครื่องเพ็ชรเพิ่มเครื่องละคอนหรูหราผิดกับละคอนตัวอื่นๆ กระบวนรำเต้น ถึงเทียบกับละคอนกรุงเทพ ฯ ที่ควรชมว่ารำดีก็มี กระบวรร้องและเจรจาเปนภาษาไทย ที่ชัดเหมือนชาวกรุงเทพฯ ก็มี ที่แปร่งก็มี เครื่องแต่งตัวมีผิดกับละคอนกรุงเทพฯ แต่บางอย่าง คือมงกุฎสัตรี มีแต่กระบังหน้ากับยอดตั้งตรงกลางกระหม่อมสูงโทงเทงดูน่าเกลียด ชฎาทรงก็อยู่ข้างสูงไป ผ่าห่มนางตัวดีห่มสะไบเฉียง (ว่าเปนแบบของสมเด็จพระหริรักษ์) ก็ไม่น่าดู ด้วยต้องปล่อยแขนเปล่าให้แลเห็นรักแร้อยู่ข้างหนึ่ง เครื่องแต่งตัวยักษ์นั้น เจียรบาททำเปนชายปลิวอย่างรูปปั้น….
….เรื่องที่ได้สนทนาในเวลาดูละคอนวันนี้ (สมเด็จพระศรีสวัสดิ์)ตรัสถามว่าละคอนอย่างนี้ที่ในกรุงเทพฯ ยังเล่นกันมากอยู่หรือ ทูลตอบว่ามิใคร่จะมีแล้ว ยังมีละคอนผู้หญิงโรงใหญ่อยู่แต่ละคอนเจ้าคุณพระประยุรวงศ์โรงเดียว นอกจากนั้นก็มีตัวละคอนอยู่ที่นั่นบ้างอยู่ที่นี่บ้าง ถ้าจะเล่นต้องรวบรวม เพราะในสมัยนี้(ปลายรัชกาลที่ ๖) คนเล่นละคอนมักแก้ไขไปเปนละคอนร้องบ้าง เปนลิเกบ้าง ตรัสว่าในส่วนพระองค์เปนคนเก่า ละคอนอย่างอื่นไม่ชอบ ชอบแต่ละคอนอย่างโบราณที่เล่นอย่างนี้ ที่ในกรุงกัมพูชาต่อไปข้างหน้าละคอนอย่างนี้ก็น่ากลัวจะสูญ ด้วยคนสมัยใหม่เขาไม่ใคร่ชอบดู ทูลตอบว่าถ้าเลิกเสียก็น่าเสียดาย ควรจะตั้งพระราชกำหนดไว้ว่า พระเจ้ากรุงกัมพูชาต่อไปภายหน้าจำจะต้องมีละคอนหลวงไว้สำหรับพระนคร เพราะถ้าไม่มีละคอนเช่นนี้ไว้ เวลามีแขกเมืองมาสู่พระนครก็จะลำบาก มีละคอนไว้เช่นนี้เปนพระเกียรติยศดี ได้ทรงฟังก็ทรงพระสรวล แล้วตรัสว่าที่ในบางกอกเมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น จะไปข้างไหนก็ได้ยินแต่เสียงกลองละคอนดูครึกครื้นไปทั้งพระนคร เดี๋ยวนี้ละคอนของพระเจ้ากรุงสยามไม่มีดอกหรือ ทูลว่ามีจัดไว้เปนกรมมหรศพ เล่นได้ทั้งโขนทั้งละคอน แต่ว่าเปนผู้ชายเปนพื้น สนทนาต่อไปถึงเรื่องละคอนที่เล่น ได้ความว่าละคอนหลวงกรุงกัมพูชาเล่นทั้งละคอนในละคอนนอก เรื่องที่เล่นก็ชอบเล่นอย่างละคอนในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เรื่องอิเหนาเปนต้น จนเรื่องพระอภัยก็เล่น…..
บางตอนจาก “นิราสนครวัด”
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์เป็นร้อยแก้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗
.
…….ละคอนหลวงกรุงกัมพูชานี้ ทราบเรื่องตำนานว่าแรกมีขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระหริรักษ์ (นักองด้วง) ได้ครูไทยมาจากเจ้าพระยาบดินทรเดชาสิงห์เสนี หัดเล่นแต่ครั้งรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร แต่เล่นเปนอย่างละคอนเจ้าต่างกรม ต่อมาถึงสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ (นักองค์ราชาวดี) จึงเล่นเอาอย่างละคอนหลวงครั้งรัชกาลที่ ๔ เมื่อสมเด็จพระนโรดมครองกรุงกัมพูชาอยู่นั้น พยายามหาครูละคอนมาจากกรุงเทพฯ ได้ใครออกมาก็ยกย่องชุบเลี้ยง ได้ละคอนวังหน้าตัวดีของเจ้าคุณจอมมารดาเอมบ้าง ละคอนพระองค์เจ้าดวงประภาบ้าง ละคอนพระองค์เจ้าสิงหนาทบ้าง และละคอนโรงอื่นๆ มาเปนครูอีกหลายคน ละคอนหลวงครั้งสมเด็จพระนโรดมเล่นแต่ภาษาไทยอย่างเดียว มาถึงครั้งสมเด็จพระศรีสวัสดิ์(นักองสีสุวัตถิ์)ก็โปรดเล่นละคอน ได้ละคอนของสมเด็จพระนโรดมประสมโรงเล่นต่อมาบ้าง หัดขึ้นใหม่บ้าง แต่เล่นทั้งภาษาไทยและภาษาเขมร ได้เคยให้ไปเล่นที่เมืองฝรั่งเศสถึง ๒ ครั้ง โดยปรกติเล่นแต่ข้างในพระราชวัง ทอดพระเนตรเองเดือนละครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง ออกมาเล่นข้างหน้าให้ชาวต่างประเทศดูแต่งารปีใหม่ หรือเวลามีแขกเมืองบันดาศักดิสูงมาจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้แม้ฝรั่งที่อยู่ในเมืองเขมรจึงมิใคร่จะได้ดู ตัวละคอนที่มาเล่นวันนี้ ตัวสำคัญมาเล่นจริงดังเล่าลือ คนเปนตัวพระสมุทชื่อนักมารศรีมณีวงศ ว่าเปนพระญาติและเปนคนโปรด ตัวนางบุษมาลีชื่อนักเมียงมะปรางหวาน เปนคนโปรดอิกคนหนึ่ง ตัวยักษ์รณจักรนั้นชื่อมิต เปนละคอนแต่ครั้งสมเด็จพระนโรดม เดี๋ยวนี้ว่าเปนตัวครูสำคัญคนหนึ่ง ได้เปนศิษย์ของสัมฤทธิ์ละคอนพระองค์เจ้าสิงหนาท ละคอนตัวโปรดสองคนนั้นแต่งเครื่องเพ็ชรเพิ่มเครื่องละคอนหรูหราผิดกับละคอนตัวอื่นๆ กระบวนรำเต้น ถึงเทียบกับละคอนกรุงเทพ ฯ ที่ควรชมว่ารำดีก็มี กระบวรร้องและเจรจาเปนภาษาไทย ที่ชัดเหมือนชาวกรุงเทพฯ ก็มี ที่แปร่งก็มี เครื่องแต่งตัวมีผิดกับละคอนกรุงเทพฯ แต่บางอย่าง คือมงกุฎสัตรี มีแต่กระบังหน้ากับยอดตั้งตรงกลางกระหม่อมสูงโทงเทงดูน่าเกลียด ชฎาทรงก็อยู่ข้างสูงไป ผ่าห่มนางตัวดีห่มสะไบเฉียง (ว่าเปนแบบของสมเด็จพระหริรักษ์) ก็ไม่น่าดู ด้วยต้องปล่อยแขนเปล่าให้แลเห็นรักแร้อยู่ข้างหนึ่ง เครื่องแต่งตัวยักษ์นั้น เจียรบาททำเปนชายปลิวอย่างรูปปั้น….
….เรื่องที่ได้สนทนาในเวลาดูละคอนวันนี้ (สมเด็จพระศรีสวัสดิ์)ตรัสถามว่าละคอนอย่างนี้ที่ในกรุงเทพฯ ยังเล่นกันมากอยู่หรือ ทูลตอบว่ามิใคร่จะมีแล้ว ยังมีละคอนผู้หญิงโรงใหญ่อยู่แต่ละคอนเจ้าคุณพระประยุรวงศ์โรงเดียว นอกจากนั้นก็มีตัวละคอนอยู่ที่นั่นบ้างอยู่ที่นี่บ้าง ถ้าจะเล่นต้องรวบรวม เพราะในสมัยนี้(ปลายรัชกาลที่ ๖) คนเล่นละคอนมักแก้ไขไปเปนละคอนร้องบ้าง เปนลิเกบ้าง ตรัสว่าในส่วนพระองค์เปนคนเก่า ละคอนอย่างอื่นไม่ชอบ ชอบแต่ละคอนอย่างโบราณที่เล่นอย่างนี้ ที่ในกรุงกัมพูชาต่อไปข้างหน้าละคอนอย่างนี้ก็น่ากลัวจะสูญ ด้วยคนสมัยใหม่เขาไม่ใคร่ชอบดู ทูลตอบว่าถ้าเลิกเสียก็น่าเสียดาย ควรจะตั้งพระราชกำหนดไว้ว่า พระเจ้ากรุงกัมพูชาต่อไปภายหน้าจำจะต้องมีละคอนหลวงไว้สำหรับพระนคร เพราะถ้าไม่มีละคอนเช่นนี้ไว้ เวลามีแขกเมืองมาสู่พระนครก็จะลำบาก มีละคอนไว้เช่นนี้เปนพระเกียรติยศดี ได้ทรงฟังก็ทรงพระสรวล แล้วตรัสว่าที่ในบางกอกเมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น จะไปข้างไหนก็ได้ยินแต่เสียงกลองละคอนดูครึกครื้นไปทั้งพระนคร เดี๋ยวนี้ละคอนของพระเจ้ากรุงสยามไม่มีดอกหรือ ทูลว่ามีจัดไว้เปนกรมมหรศพ เล่นได้ทั้งโขนทั้งละคอน แต่ว่าเปนผู้ชายเปนพื้น สนทนาต่อไปถึงเรื่องละคอนที่เล่น ได้ความว่าละคอนหลวงกรุงกัมพูชาเล่นทั้งละคอนในละคอนนอก เรื่องที่เล่นก็ชอบเล่นอย่างละคอนในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เรื่องอิเหนาเปนต้น จนเรื่องพระอภัยก็เล่น…..