‘สไบ’ คือ ‘ผ้าแถบ’ เครื่องแต่งกายท่อนบน ใช้พาดไหล่สะพายเฉียงคล้องคอจนถึงคาดอก เป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ผู้สาวแห่งย่านอุษาคเนย์มาช้านาน เรียกขานด้วยชื่อต่างๆ กันออกไป เช่น ชาวล้านนาเรียกผ้าแถบนี้ว่า ‘ผ้าสะหว้ายแล่ง’ หรือ ‘ผ้าเบี่ยงบ้าย’ (ศิลปวัฒนธรรม พ.ศ. 2562) ชาวลาวอีศานเรียก ‘ผ้าเบี่ยง’ หรือ ‘ผ้าเบี่ยงบ้าย’ (ปรีชา พ.ศ. 2561), ผู้ไท เรียก ‘แพรเบี่ยง’ (ภูวดล พ.ศ. 2555), ชาวไทดำหรือไททรงดำ เรียก ‘ผ้าเปียว’ ไว้โพกหัว ฮ้างนม และช่อคอ (ศูนย์มานุษยวิทยาฯ พ.ศ. 2561), ในขณะที่ชาวมอญเรียก ‘หยาดโด๊ด’ หรือ ‘หญาดฮะเหริ่มโตะ’ (องค์ พ.ศ. 2552)
ส่วนพวกไทยลุ่มเรียกผ้าแถบสไบนี้ว่า ‘สไบ’ เหมือนกับ ‘ไสฺบ’ คำของชาวเขมร ซึ่งเข้าใจว่าเป็นต้นทางคำยืม ตามที่พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้คำจำกัดความไว้ว่า “[สะ-] น. ผ้าแถบ, ผ้าคาดอกผู้หญิง. (ข. ไสฺบ).”
หากพวกออสโตรนีเซียนผู้เป็นชาวหมู่เกาะทั้งหลาย ต่างก็ใช้คำเรียกผ้าแถบคล้องคอพาดไหล่คล้ายๆ กับคำไทยคำเขมร อย่างเช่น ชาวมาเลย์เรียก səlampay /เซอลัมปัย/ ชาวตากาล็อกเรียก salampáy /ซาลัมปัย/ หรือชาวมาราเนาเรียก sablay /ซาบรัย/ เป็นต้น
จึงเป็นเหตุให้ผมสงสัยว่า คำเรียกสไบว่า ‘สไบ’ มีต้นเค้ามาจากไหนกันแน่
เมื่อสอบค้นเพิ่มเติมไปยังพจนานุกรมคำศัพท์เปรียบเทียบออสโตรนีเซียน Austronesian Comparative Dictionary ค.ศ. 2010-2020 ได้ความว่า มีการเรียกใช้คำในท่วงทำนองใกล้เคียงกับ ‘สไบ’ อย่างกว้างขวางและน่าสนใจยิ่ง คัดมาดังนี้
คำออสโตรนีเซียนดั้งเดิม (PAN) *sapay /ซาปัย/ ในความหมายของการพาดแขวนบนบ่าหรือราวเชือก เช่นแขวนผ้า (drape over the shoulder or from a line, as a cloth) พบกระจายตัวเรียกใช้ในพวกต่างๆ อาทิ
พวกฟอร์โมซานบนเกาะไต้หวัน เช่น Puyuma เรียก sapay พาดแขวน คล้องคร่อม (hang astride, across), s<əm>apay แขวนผ้าพาดราว (to hang, as clothes across a bar), sapay-anay แขวนผ้าพาดบ่าผู้บ่าว (to hang, as clothes over a man’s shoulder)
พวกมาลาโย-โพลีนีเซียนสาแหรกตะวันตก เช่น Cebuano และ Tagalog เรียก sampáy เสื้อผ้าแขวนบนราวตาก (clothes (laundry) hanging on a line, etc. หรือ hang laundry out; put up in someone else’s place, cause one to do so), Malagasy เรียก sampi เครื่องรางแขวนคอ (an idol, a charm, probably so called from its being carried or hung on the neck), Malay เรียก sampay ห้อยแขวน (hanging loosely), Talaud เรียก sampe แขวนด้วยเชือก (to hang on rope), Karo Batak เรียก sampe แขวนติด (remain hanging, as a stick that someone has thrown into a tree), Sangir เรียก sa-sampe ตัวแขวน (a hanger, thing used for hanging), Makassarese เรียก sampe อานขนสัมภาระบนหลังสัตว์ต่าง (wooden saddle hung over the back of a pack animal, to which the load is hooked)
พวกมาลาโย-โพลีนีเซียนสาแหรกกลาง เช่น Buruese เรียก sapa แขวน (to hang)
ซึ่งสามารถขยายความพัวพันไปบนรูปคำที่ขึ้นต้นด้วยเสียง ป ปลา ว่า *-pay /ปัย/ เช่น
1. คำมาลาโย-โพลีนีเซียนโบราณ (PMP) *kapay /กาปัย/ ในความหมายของการกระพือปีก (flutter the wings) พบกระจายตัวในพวกต่างๆ เช่น Pangasinan เรียก kapáy จ้วงว่ายน้ำ (make a stroke in swimming), Tagalog เรียก k<al>apáy ครีบปลา (fin of a fish), Bikol เรียก k<al>ápay พายเรืออย่างเงียบเชียบ (to row without making a sound), Aklanon เรียก kápay ใบพัด พายเรือ (propeller (on ship); to propel, paddle (boat)), Cebuano เรียก kapáy ครีบอก (pectoral fins on a fish; anything analogous that propels: wing, flipper; to swim, fly with flapping motions), kapay-kápay สะบัดซ้ำไปซ้ำมา (flap something repeatedly), Maranao และ Binukid เรียก kapay กระดิกนิ้วโบกสะบัดมือ (beckon with hand or fingers), Manobo (Western Bukidnon) เรียก kapey กวักมือเรียก (to beckon for someone to come), Tausug เรียก kapay ใบพัดเรือ (a propeller (of a boat or ship)), Malay เรียก kapay ปาดป้ายมือ (fumbling with the hands, whether fondling, the movements of a drowning man, or the arm movements of a baby lying on its back; flutter, fluttering (of bird, butterfly; Echols and Shadily 1963)), Arosi เรียก kape กระพือปีก (to flutter the wings), Nokuku เรียก kave ปีก (wing)
2. กลุ่มคำฟิลิปปินส์โบราณ (PPh) *lipay /ลีปัย/ เถาวัลย์พิษ (kind of vine that causes swelling and itching), *lupaypáy /ลุปัยปัย/ อ่อนระโหย (droopy, languid), *paypáy /ปัยปัย/ โบกมือ (to wave the hand, as in beckoning someone or in fanning oneself)
รวมถึงกลุ่มคำที่ใช้เสียงกักริมฝีปากผู้สนิทกับ ป ปลา คือเสียง บ ใบไม้ ขึ้นต้นว่า *-bay /บัย/ เช่น
1. คำออสโตรนีเซียนดั้งเดิม (PAN) *sabay₁ /ซาบัย/ ในความหมายของการทำบางอย่างร่วมกัน (do something together with others) พบเรียกใช้ในหลายพวก เช่น
พวกฟอร์โมซาน เช่น Amis เรียก cafay เพื่อนร่วมมือ (companion to do something), pa-cafay เป็นเพื่อนร่วมทาง (to be a companion, to go with)
พวกมาลาโย-โพลีนีเซียนสาแหรกตะวันตก เช่น Sangir เรียก sambe คนคุ้นเคยผู้อยู่ห่างไกล (good acquaintance who lives far off), Toratán เรียก sambe เพื่อนสนิท (intimate friend), Ibatan เรียก mag-sabay เรือคู่ไปด้วยกัน (two boats go together), Ilokano เรียก ag-sabáy ทำไปพร้อมๆ กัน (to act simultaneously; to go, do, etc. together), sabay-an ไปด้วยกัน (to accompany; go together), Tagalog เรียก sabáy พร้อมๆ กัน (at the same time; simultaneous), maki-sabáy ไปด้วยกัน (to go or leave at the same time with another or others), sabáy-sabáy พร้อมๆ กัน (concurrent; occurring together), Bikol เรียก sabáy ทำด้วยกัน (to do something together; to do something at the same time), Cebuano เรียก sábay เดินไปกับ ข้างเคียง (walk with, beside), Maranao เรียก sambay สัมผัสแผ่วเบา (touch lightly, invoke), Kayan เรียก habei ประสานเสียง (follow a leader in song; chorus), Old Javanese เรียก sambe กวักมือเรียก (call, beckon, invoke, invite, bid come, call out), Ibatan เรียก ka-sabay ร่วมมือกันทำบางสิ่ง (a companion in doing something side by side or together)
2. กลุ่มคำฟิลิปปินส์โบราณ (PPh) *abay /อาบัย/ เคียงข้างกันและกัน (side by side), *lubay /ลุบัย/ ห่วงหู (ear-ring), *sibay /ซีบัย/ ส่วนต่อเติมบ้าน (extension to a house (?))
ซึ่งในความเห็นของผม สังเกตว่าทั้ง *-pay และ *-bay ที่ฝังตัวอยู่ในคำสองพยางค์ต่างๆ ได้แสดงออกถึงความเป็นรากคำชนิดพยางค์เดียว (monosyllabic roots) อย่างชัดเจน โดย *-pay สื่อนัยยะความจัดจ้านในเรื่องของการพาดแขวนแกว่งสะบัดโบกไปมา ส่วน *-bay สื่อนัยยะความจัดจ้านในเรื่องของการร่วมทำสิ่งต่างๆ ไปด้วยกันพร้อมกัน อย่างต้องตรงกับรากคำพยางค์เดียวที่จัดจำแนกไว้โดยศาสตราจารย์ David R. Zorc ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ว่า *pay บนนามธรรมแห่งการแกว่งโบกสะบัดไปมา (swing, wave) และ *bay บนนามธรรมแห่งการร่วมหัวจมท้าย (be together) ตามลำดับ
ซึ่งสังเกตว่าทั้งสองรากคำ มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นพิเศษ ไม่ว่าในแง่ของเสียง ป ปลา และ เสียง บ ใบไม้ ที่เป็นเสียงกักริมฝีปากเหมือนกัน แตกต่างแค่เสียงไม่ก้องกับก้องเท่านั้น ไม่ว่าในแง่ของรูปคำ *-ay เช่นเดียวกัน และไม่ว่าในแง่ของความหมาย ที่พัวพันซ้อนทับอยู่กับการเคียงข้างซึ่งกันและกัน แบบที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า ‘side by side’ จนอาจยกขึ้นเป็นอีกหนึ่งรากคำพยางค์เดียวคู่ขวัญได้อย่างไม่ขัดเขิน
สถานะของรากคำพยางค์เดียว เป็นสิ่งยืนยันชั้นดีถึงความเก่าแก่ระดับโคตรด้ำต้นวงศ์ ผู้อาจต่อความกับคำเรียกผ้าแถบว่า ‘ไสฺบ’ ของชาวเขมรได้อย่างสูสีมีชั้นเชิง เมื่อเปิดค้นพจนานุกรมคำศัพท์เปรียบเทียบมอญ-เขมร Mon-Khmer Comparative Dictionary โดย Harry Shorto ค.ศ. 2006 (Paul Sidwell บรรณาธิการหลัก) เจอคำศัพท์น่าสนใจ 3 คำที่รวมเอาคำ ‘ไสฺบ’ ไว้ภายใน ดังนี้
1. คำศัพท์หมายเลข 1484 *[k][b]ooy /โบย/ โบกมือ (to wave hand) พบในพวก Khmer, South Bahnaric เช่น Khmer เรียก baoy, Central Rölöm เรียก pəːy, Mnong Gar เรียก bəːy (มีการอ้างถึงคำออสโตรนีเซียน เช่น Malay ว่า buai สะบัดไหว (to rock, swing))
2. คำศัพท์หมายเลข 1486 *jbaay /ยบาย/ พาดแขวนบ่า (to hang over one’s shoulder) พบในพวก Mon, Khmer และ Katuic เช่น Khmer เรียก spìːəy, Kuy เรียก phìːai สะพาย (to carry slung over shoulder), Mon เรียก kəmai กระเตง (to carry by a sling from the shoulder), Middle Mon ว่า cambāy สายสะพาย (sling carrier), Khmer ว่า sɔmpìːəy ถุง หรือ สะพายกระเตงไหล่ (bag, bundle, carried slung from shoulder) (อ้างถึงคำออสโตรนีเซียนดั้งเดิมว่า *d'aNbai, คำ Toba Batak ว่า jambe ห้อยแขวน (to hang down), คำ Cebuano Bisayan ว่า abilay สะพายกระเตง (to carry over shoulder), คำ Ilocano ว่า abiday คล้องคลุมบ่า (to wrap over shoulder), คำ Malay ว่า sampai แขวน (to hang) และ s/ĕl/ampai คลุมไหล่ (to wear over shoulder)) และเป็นต้นแบบให้ไทยยืม ในคำว่า ‘สไบ’, ‘ตะพาย’ และ ‘สะพาย’
3. คำศัพท์หมายเลข 1487 *mbaay /มบาย/ แขวนห้อยไปห้อยมา ทอดทิ้ง (to dangle; negligent) พบในพวก Mon, Khmer และ Palaungic เช่น Old Mon เรียก ’bāy ทอดทิ้ง (to be negligent), Old Khmer เรียก bāy แขวนห้อย (to dangle, hang down, be limp), Lawa Bo Luang, Lawa Umphai mbia, Mae Sariang เรียก mbuai ลืม ทิ้ง (to forget, leave behind) (อ้างถึงคำออสโตรนีเซียน เช่น Toba Batak ว่า ambe แกว่งแขน (to swing arms), Javanese ว่า awé เคลื่อนไหวไปมา (move back and forth))
แม้ดูเหมือนว่าคำทั้งสามมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงไปถึงคำออสโตรนีเซียน หากเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดจากรากคำ *pay เท่านั้น และยิ่งมองในมุมของรากคำพยางค์เดียวชนิดเชิงคู่ ทั้ง *pay แกว่งแขวนโบกกระพือสะบัดไปมา และ *bay ร่วมทำไปด้วยกันพร้อมกัน ที่แสดงการคลี่บานเผยตัวออกเป็นคำต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทำให้ตีความได้ว่า คำทั้งสามของมอญ-เขมร (รวม ‘ไสฺบ’) ควรเป็นคำดั้งเดิมของออสโตรนีเซียนมากกว่า และเป็นมอญ-เขมรที่ยืมคำพวกนี้มาจากออสโตรนีเซียนเมื่อนานมาแล้ว
ทั้งนี้ ก็ไม่ได้ปิดทางเสียเลย ถ้ามีการสืบสาวขยายไปในแวดวงออสโตรเอเชียติก โดยเฉพาะในพวก Munda ที่อาศัยอยู่แถบชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย แล้วมีการพบชุดคำคล้ายที่พัวพันกับรากคำทั้งสองข้างต้น ก็อาจถือเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ว่า ออสโตรเอเชียติกและออสโตรนีเซียน มีการร่วมรากร่วมเชื้อกันทางใดทางหนึ่ง ผ่านรากคำพยางค์เดียวมาแต่ชั้นบรรพกาล
ดังนั้น จึงเพียงพอในการสรุป ณ กลางบรรทัดว่า ‘สไบ’ รวมถึง ‘ตะพาย’ และ ‘สะพาย’ เป็นคำชุดเดียวกัน ที่อาจพัฒนาจากผ้าแถบแรกทักทอ เพื่อใช้ในการตะพายอุ้มกระเตงเข้าของและลูกน้อยเป็นหลัก ก่อนจะกลายมาเป็นเครื่องแต่งกายท่อนบนในชั้นหลัง โดยไทยลุ่มเป็นพวกที่หยิบยืมคำเหล่านี้จากปากชาวเขมร มากกว่าการหยิบยืมโดยตรงจากพวกออสโตรนีเซียน
ซึ่งพบคำว่า ‘สไบ’ แต่ยุคต้นกรุงศรีอยุธยาฯ เช่น ในจารึกเจ้าเถรศรีเทพคิริมานนท์ 1 อายุ พ.ศ. 1956 คัดคำจารึกจากด้านที่ 2 บรรทัดแรก ความว่า “๑๑๗แหวนอนันิงผาสนอบลาย๑เสิอ๑สไบย๑เชดหนาอน” เขียน ‘สไบ’ ว่า ‘สไบย’ หรือในจารึกประดิษฐานพระธาตุ อายุพุทธศตวรรษ 20 คัดคำจารึกจากบรรทัดที่ 4 ความว่า “สผ้าชิพอรเสิยใสบยหวัแหวนมอนเปนคาทาเทจิมินปจุะดวยพฺระธาดุแลเจาวสมิน” เขียน ‘สไบ’ ว่า “ใสบย” (เพิ่มเติม 22 ก.ค. 2563) และในวรรณคดีเรื่อง “ลิลิตพระลอ” คัดมาว่า ‘ชมภูสไบบาง’
ส่วนคำว่า ‘ตะพาย’ พบในกลอนเสภา “ขุนช้างขุนแผน” ตอนพลายแก้วยกทัพ คัดมาว่า “ดาบตะพายกรายขยับสำหรับฟัน” พจนานุกรมไทยฯ ให้ความหมาย ‘ตะพาย’ ไว้ว่า
“(๑) ก. แขวนบ่า, ห้อยเฉียงบ่า, เช่น ตะพายย่าม, สะพาย ก็ว่า (๒) ก. เรียกกิริยาที่เอาเชือกร้อยช่องจมูกวัวควายที่เจาะ ว่า สนตะพาย, ใช้โดยปริยายแก่คนว่า ถูกสนตะพาย หรือ ยอมให้เขาสนตะพาย หมายความว่า ถูกบังคับให้ยอมทำตามด้วยความจำใจ ความหลง หรือความโง่เขลาเบาปัญญา (๓) ก. เรียกเชือกที่ร้อยจมูกวัวควายว่า สายตะพาย. (๔) น. ช่องจมูกวัวควายที่เจาะสำหรับร้อยเชือก (๕) น. เรียกลายที่เป็นทางจากจมูกขึ้นไปทั้ง ๒ ข้างของนกกระทา.”
และคำว่า ‘สะพาย’ มีความหมายเหมือนกับ ‘ตะพาย’ พบใน “ลิลิตพระลอ” เช่นกัน คัดมาว่า ‘สพายแล่งศรมหิมา’ โดยพจนานุกรมไทยฯ ให้คำจำกัดความไว้ว่า “น. แขวนบ่า, ห้อยเฉียงบ่า, เช่น สะพายย่าม สะพายกระเป๋า, ตะพาย ก็ว่า.”
มากไปกว่านั้น อย่างชวนระทึกในอารมณ์ บางทียังอาจตามรอยรากคำพยางค์เดียว โดยเฉพาะรากคำ *pay มาถึงพวกไท-กะได ผ่านชุดคำคล้ายที่ขึ้นต้นด้วยกลุ่มเสียงกักเสียงเสียดแทรกริมฝีปาก บ, ป, ผ, ฝ, พ และ ภ ตามด้วยสระอา, โอ และแม่เกยปิดท้าย บนท่วงทำนองความหมายว่า “สะบัดออก เฉียงไปเฉียงมา กินความถึงด้านข้าง” เช่นในคำไทยลุ่มว่า ‘บ่าย’, ‘บ้าย’, ‘โบย’, ‘ป่าย’, ‘ป้าย’, ‘ผาย’, ‘ผ่าย’, ‘ผ้าย’, ‘โผย’, ‘ฝาย’, ‘ฝ่าย’, ‘พาย’, ‘พ่าย’, ‘โพย’, ‘ภาย’ ดังต่อไปนี้
คำว่า ‘บ่าย’ มีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า “(๑) น. เวลาในระหว่างเที่ยงกับเย็น. (๒) ก. เบน เช่น บ่ายหัวเรือออกไป, คล้อย เช่น ตะวันบ่าย (๓) ก. หัน, ก้าว (๔) ก. เลี่ยงไป เช่น เฒ่าก็ประดิษฐ์ประดับกายเป็นปะขาวดาบสเบือนบ่ายจำแลงเพศ (ม. ร่ายยาว ชูชก).”
คำว่า ‘บ้าย’ ใช้เรียกผ้าสไบของพวกล้านนา อีศาน ลาว ว่า ‘ผ้าเบี่ยงบ้าย’ มีคำจำกัดความว่า “(๑) ก. ป้าย, ทำให้ติดเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง, ทาอย่างหยาบ ๆ ไม่ต้องการประณีตบรรจง เช่น เอาปูนบ้ายพลู, ทำให้เปรอะเปื้อนด้วยอาการคล้ายเช่นนั้น เช่น เอามินหม้อบ้ายหน้า (๒) ก. ซัดความผิดให้ผู้อื่น ในความว่า บ้ายความผิดให้ผู้อื่น.”
คำว่า ‘โบย’ มีคำจำกัดความว่า โบย ๑ “ก. เฆี่ยนด้วยหวายเป็นต้นเป็นการลงโทษ.”, โบย ๒ “เคลื่อนไหวไปมา เช่น เร่งดยรดาษดยรโดย อาวุธโบยยยาบ (ม. คำหลวง มหาราช).”, โบยบิน “ก. บินร่อนไปมาอย่างผีเสื้อเป็นต้น.”
คำว่า ‘ป่าย’ มีคำจำกัดความว่า ป่าย ๑ “ว. ปีนขึ้นไปด้วยความยากลำบาก, มักใช้เข้าคู่กับคำ ปีน เป็น ป่ายปีน หรือ ปีนป่าย.”, ป่าย ๒ “ก. เหวี่ยงพาดไป เช่น เหวี่ยงซ้ายป่ายขวา.”
คำว่า ‘ป้าย’ มีคำจำกัดความส่วนหนึ่งว่า ป้าย ๒ “ก. ทำให้ติดเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง, ทาอย่างหยาบ ๆ ไม่ต้องการประณีตบรรจง, ทำให้เปรอะเปื้อนด้วยอาการคล้ายเช่นนั้น, โดยปริยายหมายถึง ลักษณะอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ป้ายความผิดให้ผู้อื่น.”, ป้าย ๓ “ก. ทบผ้าไปด้านข้างด้านใดด้านหนึ่ง เช่น นุ่งผ้าถุงป้ายซ้าย.”
คำว่า ‘ผาย’ มีคำจำกัดความว่า “(๑) ก. แผ่กว้างออก เช่น อกผาย ตะโพกผาย (๒) ก. เคลื่อนจากที่ (คือ ผ้าย) (๓) ก. เปิด (๔) ก. ระบายออก (๕) ก. แบะออก, แยกออก.”
คำว่า ‘ผ่าย’ มีคำจำกัดความว่า “(ปาก) น. ข้าง.” เช่น ‘ผ่ายผอม’ หมายถึงค่อนข้างผอม
คำว่า ‘โผย’ มีคำจำกัดความว่า “ก. โปรย, ออก, เช่น โผยผล.”
คำว่า ‘ฝ่าย’ มีคำจำกัดความว่า “น. ข้าง, พวก, ส่วน.”
คำว่า ‘โพย’ มีคำจำกัดความส่วนหนึ่งว่า “(๒) ก. โบย, ตี.” และในวลี ‘ตีโพยตีพาย’ กับความหมายว่า “ก. แกล้งร้องหรือทำโวยวายเกินสมควร, แสดงความเสียอกเสียใจจนเกินเหตุ.”
คำพิเศษว่า ‘ผ้าย’
‘ผ้าย’ มีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า “ก. เคลื่อนจากที่, ใช้ ผาย ก็มี.” เป็นคำที่ใช้ในหลายพวกของไท-ไต เช่นคัดจากคำศัพท์ไท-ไตพื้นฐาน หมายเลข 597 ‘walk, to’ (พิทยาวัฒน์ ค.ศ. 2009) ดังนี้
Siamese และ Shangsi เรียก pha:j C1 /ผ้าย/
Sapa เรียก fa:j C1 –i /ฝ้าย/
Cao Bang และ Lungchow เรียก phja:j C1 /ผย้าย/
Yay เรียก pja:j C1 /ปย้าย/
สืบสร้างเป็นคำไท-ไตโบราณ (Proto-Tai) ด้วยเสียงควบกล้ำ *pr- ว่า *pra:j C /ปร้าย/
คำพิเศษว่า ‘ฝาย’
‘ฝาย’ เป็นหนึ่งในคำเก่าแก่ของพวกไท-ไต ใช้เรียกขานการจัดการน้ำด้วยระบบ ‘เหมืองฝาย’ เพื่อการปลูกข้าวแบบนาดำมาแต่สมัยโบราณ โดย ‘เหมือง’ หมายถึง ลำคลองส่งน้ำที่ขุดขึ้นเพื่อรองรับน้ำจากฝายเข้านา ส่วน ‘ฝาย’ หมายถึงสิ่งก่อสร้างขวางแม่น้ำหรือห้วยหลัก เพื่อทดระดับน้ำให้สูงขึ้นจนเอ่อไหลแจกจ่ายเข้าลำเหมืองได้ ซึ่งพบคำเรียก ‘เหมืองฝาย’ เช่นที่ได้ถูกอ้างถึงไว้ในบทความเรื่อง “เหมืองฝาย สุดยอดภูมิสถาปัตยกรรมจากภูมิปัญญาพื้นบ้านไทย” (ยอด พ.ศ. 2563) ว่าสืบย้อนขึ้นไปถึงยุคพญามังรายในมังรายศาสตร์ และยุคสุโขไทในจารึกนครชุมเป็นอย่างน้อย
ใน “มังรายศาสตร์ฉบับเชียงหมั้น” (ประเสริฐ และคณะ พ.ศ. 2528) ได้อธิบายศัพท์คำเมือง “แปงเหมิงฝาย” ในใบลานหน้า 30 ว่าหมายถึงการ “ทำเหมืองฝายเอาน้ำเข้านา” และในจารึกนครชุมด้านที่ 2 บรรทัดที่ 7 มีคำจารึกคล้ายคลึงว่า “เหมิองแปลงฝายรูปรา...” ซึ่งพจนานุกรมไทยฯ ให้คำจำกัดความ ‘ฝาย’ แบบปัจจุบันสมัยว่า “น. ที่กั้นน้ำเพื่อการชลประทาน.” สื่อนัยยะของการกักทดเพื่อเบี่ยงเบนทางน้ำอย่างเด่นชัด
คำว่า ‘ฝาย’ ถูกใช้อย่างกว้างขวางในพวกไท-ไต เช่นคัดจากคำศัพท์ไท-ไตพื้นฐาน หมายเลข 368 ‘dam’ (พิทยาวัฒน์ ค.ศ. 2009) ดังนี้
Siamese และ Sapa เรียก fa:j A1 /ฝาย/
Bao Yen, Cao Bang, Lungchow และ Shangsi เรียก pha:j A1 /ผาย/
Yay เรียก va:j A1 /หวาย/
สืบสร้างเป็นคำไท-ไตโบราณว่า *hwa:j A ออกเสียงคล้าย /หวาย/
และพวก Jiamao ผู้เป็นไท-กะไดกลุ่มหนึ่งบนเกาะไหหลำ เรียกคูน้ำ (ditch) ว่า va:j 5 คล้ายกับคำของพวก Yay (Norquest ค.ศ. 2007)
คำพิเศษว่า ‘พาย’ และ ‘ภาย’
‘พาย’ ในความหมายที่คุ้นเคยใช้กับการพายเรือ หรือใช้เรียกไม้พาย มีความหมายตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า “(๑) น. เครื่องมือสำหรับพุ้ยนํ้าให้เรือเคลื่อนไป ทำด้วยไม้ มีด้ามกลมยาวประมาณ ๒ ศอกสำหรับจับ ส่วนที่ใช้พุ้ยน้ำมีลักษณะแบน เรียกว่า ใบพาย, ถ้าลอกลวดเป็นคิ้วตลอดกลางใบพาย เรียกว่า พายคิ้ว, ถ้าด้ามสั้น ใบป้อม เพื่อให้จับได้ถนัด เรียกว่า พายทุย, เรียกไม้แบน ๆ ที่มีรูปคล้ายพาย เช่น พายกวนขนม. (๒) ก. ใช้ใบพายวักหรือดันน้ำไปทางท้ายเรือเพื่อให้เรือเคลื่อนไป.”
หากในยุคโบราณ ไม่ได้ใช้ในความหมายว่าใบพายหรือพายเรือเพียงแค่นั้น ดังเช่นอ้างอิงจากบทความเรื่อง “ทุกพาย” ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร พ.ศ. 2560 เขียนโดย อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2545 ความว่า
“ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่ ๖ (๒๕๓๗: ๔๐๒) กล่าวถึง ทุกพาย ว่า ว. ทุกแห่ง ฉะนั้น พาย น่าจะมีความหมายว่า แห่ง แต่เมื่อเปิดไปที่ พาย ในหน้า ๕๙๔ กลับไม่มีความหมายของคำว่า แห่ง เรารู้จักกันว่า พาย เป็นเครื่องมือสำหรับพุ้ยน้ำให้เรือเดิน หรือเรียกไม้ที่ทำคล้ายพายใช้กวนขนม อรุณรัตน์ วิเชียรเขียวและคณะ พจนานุกรมภาษาถิ่น ภาคเหนือ (๒๕๓๙:๕๔๙) ระบุว่า พาย ภาย, ฝ่าย, ด้าน, เบื้อง เข้าใจว่าคงได้คำนี้มาจากศิลาจารึกวัดศรีชุม ที่พบในอุโมงค์วัดศรีชุม อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๓๖ ที่กล่าวว่า “เมือใต้เมือเหนือคลาไป (เที่ยวไป) ทุกแห่งทุกพาย ต่างคนต่างเมือบ้านเมือเมืองดังเก่า...” (จารึกสุโขทัย (๒๕๒๖: ๖๔) และในจารึกวัดพระยืน ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๓๐-๓๑ ที่กล่าวว่า “อันอยู่พายกุมกาม (แถบอำเภอสารภี) เชียงใหม่พู้นก็ดี...” (จารึกสุโขทัย (๒๕๒๖: ๙๗) จะเห็นได้ว่า ทุกพาย หรือ พาย ที่ปรากฏในจารึกสมัยสุโขทัยก็ดี หรือที่ปรากฏในภาษาไทยพายัพก็ดีนั้น ก็คือ ภาย ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
ฉะนั้นจึงน่าที่ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่ ๖ (๒๕๓๗: ๔๐๒)น่าจะระบุไว้ว่า ทุกพาย (โบ) ว.ทุกแห่ง เช่น “เมือใต้เมือเหนือคลาไป (เที่ยวไป) ทุกแห่งทุกพาย ต่างคนต่างเมือบ้านเมือเมืองดังเก่า...” (จารึกสุโขทัย (๒๕๒๖: ๖๔) ปัจจุบันใช้ว่า ภาย การที่ไม่อธิบายให้ชัดเจนจะทำให้เกิดปัญหาได้ภายหลัง”
นั่นคือ ‘พาย’ ในสมัยโบราณ ความหมายหนึ่งคือ แห่ง และต่อมากลายเป็นคำว่า ‘ภาย’ โดยมีคำจำกัดความปัจจุบันว่า “(๑) น. บริเวณ, สถานที่, เช่น ภายนอกกำแพง ภายในเมือง (๒) น. ระยะเวลา เช่น ในภายหน้า จะแจ้งให้ทราบในภายหลัง.”
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากมุมของรากความหมายร่วมแบบ “สะบัดออก เฉียงไปเฉียงมา กินความถึงด้านข้าง” จะสามารถออกความหมายคำว่า ‘พาย’ ในจารึกสุโขไทใหม่ได้ว่า ด้านข้าง ข้างๆ หรือข้างเคียงแบบใกล้ชิดสนิทแนบ ‘ทุกแห่งทุกพาย’ จึงควรหมายถึงทุกแห่งทุกข้าง มากกว่าที่ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ แปลไว้ว่าทุกแห่งทุกหน และ ‘อันอยู่พายกุมกาม’ ควรหมายถึงอันอยู่ข้างกุมกาม มากกว่าที่แปลว่าอันอยู่บริเวณกุมกาม ซึ่งไปพ้องกับคำเรียกด้านข้าง (side) ของพวก Jiamao ว่า pha:j 5 ออกเสียงคล้าย /ผ่าย/ ในอีกทางหนึ่ง
คำพิเศษว่า ‘พ่าย’
‘พ่าย’ เป็นคำไทยโบราณ หมายถึงแพ้ หนีไป (พจนานุกรมไทยฯ พ.ศ. 2554) ไม่น่าใช่คำยืม พบมาแต่ยุคสุโขไท เช่นในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 6 “พ่อกูหนีญญ่ายพายจแจ๋” หรือในจารึกวัดศรีชุม ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 29 “นผาเมือง.......ขอมสบาดโขลญลําพงห..พายพง”
ถ้าใช้ความหมายร่วมรากเข้าจับคำว่า ‘พ่าย’ จะตีความใหม่ได้ว่าคือ การเบี่ยงตัวออกด้านข้าง หลีกเลี่ยงการต่อสู้เข้าปะทะซึ่งหน้ากับศัตรู ก่อนที่จะแพ้หนีไป อย่างเช่นที่ใช้ในคำปัจจุบันอย่างสามัญว่า ‘พ่ายแพ้’
ดังนั้น คำไทย ไท-ไต ที่ยกมาข้างต้น แม้ยังไม่อาจสืบสาวขยายความออกไปอย่างกว้างขวางในหมู่ไท-กะไดก็ตาม แม้คำสืบสร้างไท-ไตโบราณของคำเรียก ‘dam’ จะขึ้นด้วย *hw- ว่า *hwa:j A และคำเรียก ‘walk, to’ จะควบกล้ำด้วย *pr- ว่า *pra:j C ก็ตาม แม้บางคำดูคล้ายคำยืมจีนคำยืมเขมรก็ตาม แม้ไม่อาจรักษาความเป็นสไบตะพายเฉียงก็ตาม
หากด้วยความหลากหลายของคำต่างๆ ก็ไม่อาจละเลย ตั้งแต่เรื่องของการ เบี่ยงบ่าย เบี้ยบ้าย โบยบิน ปัดป่าย ป้ายสี ผายผัน ผ่ายผอม โผนผ้าย โผยเผย เหมืองฝาย ฝักฝ่าย พายเรือ ทุกพาย พ่ายแพ้ รวมไปถึง ตีโพยตีพาย
หากเป็นความหลากหลายที่สามารถยึดกุมหัวใจพื้นฐานของรากคำพยางค์เดียว *pay การแกว่งแขวนโบกกระพือสะบัดไปมา (swing, wave) ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
จนไม่เกินเลยที่จะกล่าวเสนอว่า คำเหล่านี้ควรเป็นคำร่วมเชื้อสายโดยสันดาน ก่อกำเนิดโอบบ้ายป่ายอุ้มกันลงมาจากรากคำพยางค์เดียว *pay ร่วมกับทางออสโตรนีเซียนแต่คราวดึกดำบรรพ์ มากกว่าการเป็นคำหยิบยืมเช่นคำว่า ‘สไบ’, ‘ตะพาย’ และ ‘สะพาย’ ในพายหลัง
จึงขอเสนอเป็นข้อสังเกตเรื่องลำดับความเป็นมาของคำว่า ‘สไบ’ สายคาดนมกระเตงลูก ผู้เป็นคำเขมร ที่ (อาจ) ไม่เขมร เพื่อการถกเถียงไว้ ณ ปลายบรรทัดนี้
สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช
จันทบุรี 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563
(ภาพชาวอีสาน ปรับปรุงจากภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
อ้างอิง:
ประเสริฐ ณ นคร และคณะ. พ.ศ. 2528. มังรายศาสตร์ฉบับเชียงหมั้น. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่.
ปรีชา พิณทอง. พ.ศ. 2561. ภาษาอีสาน “สะไบ”. อีสานร้อยแปด. (www.isan108.com)
ภูวดล ศรีธเรศ. พ.ศ. 2555. เสื้อดำ แพรเบี่ยง ซิ่นไหม...เครื่องย้องของเอ้สตรีผู้ไทสองฝั่งโขง. วารสารศิลปะทัศน์วัฒนธรรมสาร (ฉบับปฐมฤกษ์). สถาบันภาษาศิลปะ และวัฒนธรรม. มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.
ยอด เนตรสุวรรณ. พ.ศ. 2563. เหมืองฝาย สุดยอดภูมิสถาปัตยกรรมจากภูมิปัญญาพื้นบ้านไทย. วารสารวัฒนธรรม. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (www.article.culture.go.th)
ศิลปวัฒนธรรม. พ.ศ. 2562. “ซิ่น” แห่งนครเชียงใหม่ วัฒนธรรมการแต่งการสตรีชาวยวน. ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. (www.silpa-mag.com)
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. พ.ศ. 2561. เครื่องแต่งกายไทดำและไทยทรงดำ. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกเจ้าเถรศรีเทพคิริมานนท์ 1. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกประดิษฐานพระธาตุ. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกพ่อขุนรามคำแหง. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกวัดศรีชุม. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกนครชุม. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พ.ศ. 2554. พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา. (www.royin.go.th)
ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. ขุนช้างขุนแผน. ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. (www.vajirayana.org)
ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. ลิลิตพระลอ. ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. (www.vajirayana.org)
องค์ บรรจุน. พ.ศ. 2552. สไบมอญ (หญาดฮะเหริ่มโตะ). คลังเอกสารสาธารณะ OPENBASE.in.th. (www.openbase.in.th)
อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์. พ.ศ. 2560. ทุกพาย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)
Blust, Robert A. and Trussel, Stephen. 2010: revision 2020. Austronesian Comparative Dictionary. (www.trussel2.com)
Norquest, Peter K. 2007. A Phonological Reconstruction of Proto-Hlai. In Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of Doctor of Philosophy with a Major in Anthropology and Linguistics in the Graduate College of University of Arizona. (www.arizona.openrepository.com)
Pittayaporn, Pittayawat. 2009. The Phonology of Proto-Tai. In Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of Doctor of Philosophy, Faculty of the Graduate School of Cornell University. (www.ecommons.cornell.edu)
Shorto, Harry. 2006. A Mon-Khmer Comparative Dictionary. Pacific Linguistics.
Zorc, R. David. 1990. The Austronesian monosyllabic root, radical or phonestheme. Linguistic Change and Reconstruction Methodology: De Gruyter. (www.zorc.net)
โพสต์โดยคุณ Tinnaphob Kosareekul · AWCC (V3)